ค้นหาบล็อกนี้

15/7/55

วิธีต้อนรับเดือนรอมฎอน 3


วิธีที่ 5 مُدَارَسَةُ أَحْكَامِ الصِّيَام
การศึกษาวิธีถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม
-------------------------------------------

ต้อนรับเดือนรอมฎอนด้วยการศึกษาแสวงหาความรู้ เกี่ยวกับการถือศีลอด และปัญหาที่เกี่ยวข้องที่อาจเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน เพื่อเป็นการเตรียมตัวปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างถูกต้อง เพราะเราถูกใช้ให้ถามผู้รู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกๆคนที่ต้องเอาใจใส่ความรู้ในเรื่องนี้ อย่าถือว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะผลกระทบจากการที่ไม่รู้หลักการของการถือศีลอดนั้น อาจทำให้สูญเสียซึ่งผลบุญที่เรามุ่งมั่นแสวงหาอย่างขะมักเขม้น จึงทำให้พวกเราขาดทุนโดยไม่รู้สึกตัว



การศึกษาบทบัญญัติการถือศีลอด จำเป็นต้องศึกษาค้นคว้าก่อนที่จะเข้าสู่วาระแห่งการปฏิบัติอิบาดะฮฺในเดือน รอมฎอน เพราะมุอฺมินต้องเตรียมความรู้ให้พร้อมก่อนการปฏิบัติ ดังที่พระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า


﴿ فَاعْلَمْ أَنَّهُ لا إِلَهَ إِلا اللَّهُ وَاسْتَغْفِرْ لِذَنبِكَ ﴾


ความว่า : "พึงรู้เถิดว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และจงขอความอภัยโทษต่อความผิดเพื่อตัวเจ้า" (มุฮัมมัด 19)

ในอายะฮฺนี้มีคำสั่งใช้ให้รู้และตระหนักในคำว่า ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ จึง จะมีการปฏิบัติภายหลังความรู้อย่างถูกต้อง ดังนั้น อิมามบุคอรียฺ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ จึงนำอายะฮฺนี้มาเป็นหัวข้อ(บาบ)ในหนังสืออัศศ่อฮี้ฮฺของท่านคือ บาบุน อัลอิลมุ ก๊อบละ อัลเกาลิ วัลอะมะลิ หมายถึง ความรู้ย่อมต้องมีก่อนการพูดหรือการกระทำ

เป็นที่ปรากฏในสังคมอย่างมากมาย คือบุคคลที่กระทำความผิดโดยไม่รู้หรือรู้แต่ไม่รอบคอบ จึงทำให้มีข้อบกพร่องมากมายในการปฏิบัติศาสนกิจ อาทิเช่น  สตรีที่ถือศีลอดแต่ไม่คลุมหิญาบ หรือครอบครัวที่ถือศีลอดแต่ชมหนังชมละครทั้งกลางวันกลางคืน โดยไม่รู้สึกว่าเป็นพฤติกรรมที่กำลังทำลายการถือศีลอด หรือบุคคลที่ร่วมประเวณีกับภรรยาตอนกลางวันของเดือนรอมฎอนโดยไม่รู้ว่าเป็น ความผิดอย่างมหันต์(กะบีเราะฮฺหรือบาปใหญ่) จนต้องมีกัฟฟาเราะฮฺ(ไถ่โทษ)ประเภทหนึ่งที่ต้องปฏิบัติ หรือบุคคลที่ถือศีลอดแต่กลับเริ่มละศีลอดด้วยการสูบบุหรี่ อันเป็นความผิดที่ท้าทายพระบัญญัติของอัลลอฮฺ

ตัวอย่าง ที่ระบุข้างต้นบ่งชี้ถึงผลกระทบแห่ง ความไม่รู้ จึงใคร่ขอให้พี่น้องมุสลิมีนและมุสลิมาตศึกษาหลักการศาสนาอิสลามโดยเฉพาะ หลักการแห่งการถือศีลอดอย่างละเอียด ซึ่งในโอกาสนี้ขอแนะนำหนังสือการถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม เรียบเรียงโดยอาจารย์อะหมัด สมะดี (ฮะฟิเซาะฮุลลอฮฺ)


วิธีที่ 6 الدَّعْوَةُ إِلَى الخَيْرِ فِيْ رَمَضَان
เผยแผ่ความดีงามและคุณธรรมแห่งเดือนรอมฎอน
----------------------------------

ในการรายงานของท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

عَنْ أَبِيْ هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : إِذَا كَانَ أَوَّلُ لَيْلَةٍ مِنْ شَهْرِ رَمَضَانَ صُفِّدَتِ الشِّيَاطِيْنُ وَمَرَدَةُ الجِنِّ وَغُلِّقَتْ أَبْوَابُ النَّارِ فَلَمْ يُفْتَحْ مِنْهَا بَابٌ ، وَفُتِّحَتْ أَبْوَابُ الجَنَّةِ فَلَمْ يُغْلَقْ مِنْهَا بَابٌ ، وَنَادَى مُنَادٍ : يَا بَاغِيَ الخَيْرِ أَقْبِلْ وَيَا بَاغِيَ الشَّرِّ أَقْصِرْ وَللهِ عُتَقَاءُ مِنَ النَّارِ وَذَلِكَ في كُلِّ لَيْلَةٍ .    رواه ابن خزيمة

ความว่า : "เมื่อถึงคืนแรกของเดือน รอมฎอน บรรดาชยาฏีนและผู้นำของมันจะถูกล่ามโซ่ และบรรดาประตูแห่งนรกจะถูกปิด โดยไม่มีประตูใดๆของมันจะถูกเปิด และบรรดาประตูแห่งสวรรค์จะถูกเปิด โดยไม่มีประตูใดๆของมันจะถูกปิด และผู้เรียกร้องจะกล่าวว่า โอ้ผู้ปรารถนาความดี จงมาเถิด โอ้ผู้ปรารถนาความชั่ว จงยุติเถิด และในทุกคืนอัลลอฮฺทรงปล่อยผู้คนจากนรก" (บันทึกโดยอิบนุคุซัยมะฮฺ)

 ผู้ศรัทธาจึงต้องต้อนรับเดือนรอมฎอนด้วย การเตรียมตัวเผยแผ่ความดีงามและคุณธรรมแห่งเดือนรอมฎอน ให้คนใกล้เคียงมีส่วนร่วมในการทำความดี เช่น

  • เชิญชวนละหมาดมัสยิดทุกเวลา
  • ละหมาดตะรอเวียะฮฺทุกคืน
  • บริจาคทานทุกวัน
  • อ่านอัลกุรอานให้มากๆ
  • ระงับอารมณ์ให้หนักแน่น
  • จัดบรรยายหรือนะศีหะฮฺ แบบสั้นๆเล็กๆน้อยๆ สำหรับครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนฝูง ซึ่งจะสร้างบรรยากาศอันสวยงามในสังคมของเรา




วิธีที่ 7 مُشَارَكَةُ المُسْلِمِيْنَ في آلامِهِم
ปลุกจิตสำนึกต่อความทุกข์ของประชาชาติอิสลาม
 ----------------------------------------------

ผู้ศรัทธาควรต้อนรับเดือนรอมฎอนด้วยจิตสำนึก ที่เลื่อมใสต่อประชาชาติอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นพี่น้องมุสลิมที่กำลังประสบความทุกข์ ให้เราร่วมความรู้สึกกับเขาในสิ่งที่เขากำลังประสบอยู่ เฉกเช่นพี่น้องมุสลิมที่อัฟฆอนิสตาน   ฟิลิสฏีน อิรัก และอื่นๆ เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการต่อสู้นัฟซู ต่อสู้ชัยฏอน รวมทั้งต่อสู้ศัตรูด้วย

นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องปลุกจิตสำนึกของเรา ให้มีความห่วงใยต่ออนาคตของประชาชาติอิสลามทั้งมวล เพราะวันนี้สังคมมุสลิมทุกท้องที่อยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วงมาก ทั้งในด้านศาสนา การปกครอง สังคม มารยาทจริยธรรม ครอบครัว และอื่นๆ มุสลิมทุกคนต้องรู้สึกรับผิดชอบระดับหนึ่งต่อหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการ แก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคมของเรา อย่ามองว่าหน้าที่ของเราในเดือนรอมฎอนคือการถือศีลอด แล้วความรับผิดชอบจะสิ้นสุดแค่นี้ เราต้องตระหนักว่าเดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งความห่วงใยต่อพี่น้องมุสลิมทั้ง ปวง ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สอนไว้ว่า มุสลิมกับมุสลิมเปรียบเสมือนเรือนร่างเดียวกันหรืออาคารเดียวกัน ฉะนั้นในเดือนรอมฎอน ท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงได้ประสบชัยชนะในสงครามบัดรฺ ซึ่งเป็นสงครามยิ่งใหญ่ที่พระองค์อัลลอฮฺ   ทรงจำแนกระหว่างสัจธรรมและความเท็จ ท่านนบีกับศ่อฮาบะฮฺได้ต่อสู้ศัตรูอิสลามอย่างเต็มที่ เพื่อให้พระดำรัสของอัลลอฮฺนั้นประจักษ์แจ้งและสูงส่ง และให้ความยุติธรรมปรากฏในสังคมอย่างบริบูรณ์ จึงเป็นบทเรียนที่ยอดเยี่ยมสำหรับเดือนรอมฎอน ที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่กว่าเพียงงดอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นเคล็ดลับที่ต้องฟื้นฟูขึ้นในจิตใจพี่น้องมุสลิมของเรา อันเป็นวิถีทางในการเสริมสร้างบุคลิกภาพให้เข้ม แข็งเพื่อที่จะสามารถเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ

เดือนรอมฎอนนี้เป็นโอกาสดีสำหรับผู้นำ นักการเมือง นักธุรกิจ ผู้รู้ในทุกๆด้าน ที่จะระดมพลังรวมความสามารถ เพื่อที่จะทำให้สังคมมุสลิมเป็นปึกแผ่นเดียว เดือนรอมฎอนควรจะเป็นเดือนแห่งความสามัคคี บนบรรทัดฐานแห่งอะกีดะฮฺที่ถูกต้อง และจรรยาบรรณอันเข้มแข็งที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชาติอัลอิสลาม โดยปราศจากเป้าหมายส่วนตัวที่แฝงอยู่ในพฤติกรรมต่างๆ

 บุคคลที่สามารถงดอาหาร เครื่องดื่ม และความใคร่ในเดือนรอมฎอน ย่อมมีศักยภาพที่จะระงับกิเลส(ความต้องการและความอยาก)ของตน โดยมุ่งมั่นให้จิตใจของตนมีความโปร่งใสและความบริสุทธิ์ และเมื่อมีจิตใจเช่นนี้ปรากฏในเดือนรอมฎอนแล้ว ก็แสดงว่าผู้ถือศีลอดนั้นได้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติอิบาดะฮฺ จึงไม่มีสิ่งใดๆที่จะห้ามเขารับรางวัลอันใหญ่หลวงคือการอภัยโทษอันกว้างขวาง จากพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

วิธีต้อนรับเดือนรอมฎอน 1 <<
วิธีต้อนรับเดือนรอมฎอน 2 <<




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น